วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การออกแบบฐานข้อมูลและ ER-ไดอะแกรม

               
                เมื่อเริ่มใช้ฐานข้อมูล การออกแบบโครงสร้างของฐานข้อมูล จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การออกแบบ จะใช้แผนภูมิความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่เรียกว่า ER-ไดอะแกรม (Entity Relationship Diagram) ดังตัวอย่างในรูปที่1เข้ามาช่วยในการออกแบบ แผนภูมินี้จะช่วยเรียบเรียงความคิด และช่วยทำให้มองความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่างๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ลักษณะของ ER-ไดอะแกรม
                ER-ไดอะแกรมประกอบด้วยสามส่วนใหญ่ๆคือ
เอนทิตี (Entity)
                เป็นตัวแทนของสิ่งที่สนใจ หรือจะพูดอีกอย่างว่า ตัวแทนของชุดข้อมูลหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เอนทิตีสินค้า เอนทิตีลูกค้า เอนทิตีใบสั่งซื้อ เป็นต้น แทนด้วยสี่เหลี่ยม
พรอพเพอร์ตี้(Property)
                เป็นคุณสมบัติของเอนทิตี ซึ่งก็คือ ข้อมูลจริงของสิ่งที่เราสนใจ เช่น เอนทิตีสินค้า ก็จะมีพรอพเพอร์ตี้ เช่น รหัสสินค้า ราคาต่อหน่วย เป็นต้น แทนด้วยวงกลม
ความสัมพันธ์ (Relationship)
                เป็นการเชื่อมโยงระหว่างเอนทิตีกับเอนทิตี เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับใบสั่งซื้อ เป็นต้น แทนด้วยสามเหลี่ยม ความสัมพันธ์มีด้วยกันสามชนิดคือ ความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งต่อหนึ่ง (1-1) ความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งต่อกลุ่ม (1-M) ความสัมพันธ์ชนิดกลุ่มต่อกลุ่ม (M-N)
                จากรูปที่1จะอ่านได้ว่า มีข้อมูลหลักอยู่ 3 อย่าง (3 เอนทิตี ,3 ตาราง) ได้แก่ ข้อมูลสินค้า(Product) ข้อมูลการสั่งซื้อ(Order)  ข้อมูลลูกค้า(Customer) ซึ่งแต่ละตารางจะมีรายละเอียดย่อยๆ อาทิเช่น ตารางข้อมูลสินค้า ก็จะมีข้อมูลของรหัสสินค้า(ProductID)  ชื่อสินค้า(ProductName) ราคาต่อหน่วย(UnitPrice) ปริมาณคงคลัง (UnitInStock)อยู่เป็นต้น
                ส่วนจากความสัมพันธ์ก็จะอ่านได้ว่า ในการสั่งซื้อแต่ละครั้งจะประกอบด้วยสินค้ากี่ประเภทก็ได้ หรือสินค้าแต่ละประเภทจะถูกสั่งจากหลายการสั่งซื้อก็ได้ (ความสัมพันธ์ชนิดกลุ่มต่อกลุ่ม) กับ แต่ละการสั่งซื้อจะต้องมีผู้สั่งสินค้าเพียงคนเดียว แต่ทว่าลูกค้าแต่ละคนสามารถมีการสั่งซื้อหลายครั้งก็ได้ (ความ สัมพันธ์ชนิดหนึ่งต่อกลุ่ม)

เราจะเขียน ER-ไดอะแกรมได้อย่างไร
                การได้มาซึ่งER-ไดอะแกรมในรูปที่1 นั้น จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ศึกษารายละเอียดและลักษณะหน้าที่งานของระบบ
                ศึกษาและรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะหน้าที่งานของระบบ ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการทำงาน ตลอดจนข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการสัมภาษณ์หรือศึกษาจากแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการใช้งานอยู่ในระบบงานนั้น
2. กำหนดเอนทิตีที่ควรมีในระบบฐานข้อมูล
                นำรายละเอียดในข้อ1 มาทำการกำหนดเอนทิตีที่จำเป็นต้องมีอยู่ในระบบฐานข้อมูล พร้อมทั้งกำหนดพรอพเพอร์ตี้ของแต่ละเอนทิตีด้วย
3. กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอนทิตี
                กำหนดประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างเอนทิตี โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ได้ทำการศึกษามา
4.ปรับปรุงเอนทิตี พรอพเพอร์ตี้ และความสัมพันธ์ ให้เหมาะสม

                ทำการวิเคราะห์ER-ไดอะแกรมที่ได้มาว่า สื่อถึงระบบข้อมูลที่ต้องการจริงหรือไม่ แล้วทำการปรับแต่งให้เหมาะสม โดยอาจมีการเพิ่มหรือลดเอนทิตีหรือพรอพเพอร์ตี้ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะความสัมพันธ์เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น